อะซิดิตี้ (Acidity)
คำนี้ไม่ใช่ชื่อตัวละครในหนังซูเปอร์ฮีโร่ แต่ใช้บอกถึงความเป็นกรดที่มักมีรสชาติเปรี้ยว อันเป็นสิ่งที่มีอยู่ในน้ำไวน์ทุกชนิด ระดับของความเป็นกรดนั้นทำให้รู้สึกว่ารสชาติคมชัด ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญของรสชาติไวน์ที่ติดค้างอยู่ในปาก เป็นตัวบ่งชี้ว่าไวน์นั้นรสชาติชัดและมีความสมดุลเพียงใด และอะซิดิตี้นี้ยังช่วยรักษารสชาติของไวน์ให้คงความสดชื่นเอาไว้ในตัว แต่ถ้ามีความเป็นกรดนี้สูงจนเกินไปก็จะทำให้รสชาติของไวน์เสียไปเช่นกัน เพราะไปกลบรสชาติอื่นๆ ของไวน์จนหมด ทั้งนี้สิ่งที่น่ารู้อย่างหนึ่งคือ ไวน์ที่ผลิตในปีที่อุณหภูมิอากาศมีความเย็นหรือฝนตกเยอะจะมีความเป็นกรดสูง และหากอุณหภูมิอากาศสูง หรือพูดง่ายๆ ว่าร้อนจัด ความเป็นกรดก็จะต่ำลงตามไปด้วย ดังนั้นคุณสามารถบอกได้ว่าไวน์นี้มีอะซิดิตี้สูงหรือต่ำได้จากการชิมนั่นเอง (อย่าเพิ่งรีบพูดก่อนจิบล่ะ)
อาฟเตอร์เทสต์ (Aftertaste)
คำที่ใช้พูดเมื่อได้จิบไวน์เข้าไปแล้วสักพัก แปลง่ายๆ คือรสชาติหลังจิบนั่นเอง รสชาตินี้จะเกิดขึ้นเมื่อกลืนไวน์ลงคอ โดยผู้ดื่มรู้สึกถึงรสที่ทิ้งเอาไว้ และสิ่งนี้ยังเป็นตัวบอกอีกด้วยว่า ยิ่งทิ้งรสเอาไว้ในปากนาน ไวน์นั้นยิ่งแจ๋ว ดังนั้นคุณสามารถพูดได้ว่า “ไวน์ตัวนี้มีอาฟเตอร์เทสต์ที่ค่อนข้างนานทีเดียว” แค่นี้คะแนนความฉลาดก็เพิ่มขึ้นทันตา
อโรมา (Aroma)
ว่าง่ายๆ ก็คือ ‘กลิ่น’ นั่นเอง แต่กลิ่นที่ว่านี้จัดอยู่ในกลิ่นของไวน์เด็ก หรือไวน์ใหม่ที่ยังบ่มไม่นาน และเมื่อนานเข้าจะพัฒนาเป็นกลิ่นผู้ใหญ่ที่เรียกว่า ‘บูเกต์’ (bouquet) ในภายหลัง
บาลานซ์ (Balance)
คุณอาจได้ยินนักชิมไวน์หรือซอมเมอลิเยร์พูดถึงความ ‘บาลานซ์’ อยู่บ้าง สิ่งนี้คือระดับความลงตัวที่ผสานกันของรสชาติไวน์ที่ต้องรวมถึงน้ำองุ่นเข้มข้น มีระดับอะซิดิตี้ *แทนนิน ความเป็นผลไม้ ไม้โอ๊ก และส่วนประกอบอื่นๆ ที่สมดุลกัน ที่สำคัญ ไวน์ที่ผ่านการบ่มนานมักจะมีรสที่อร่อยกว่า เนื่องจากมีบาลานซ์ที่ดี หรือรสที่ลงตัวนี่เอง
บอดี้ (Body)
จะกล่าวว่าเป็นคำที่ได้ยินและได้ใช้เยอะที่สุดก็คงไม่เกินจริงแน่ๆ เพราะคำนี้บ่งบอกถึงความ ‘หนัก’ ของไวน์ แต่หาใช่น้ำหนักของน้ำไวน์หรอกนะ เขาหมายถึงเนื้อสัมผัสและรสชาติที่เข้มข้น โดยมีระดับตั้งแต่ ไลต์ (Light), มีเดียม (Medium) และฟูล (Full) ไวน์ที่มีลักษณะฟูลบอดี้มักมีความเข้มข้นสูง และมีแอลกอฮอล์ที่สูง จึงมักให้รสสัมผัสที่เข้มข้นและรสชาติที่จัดนั่นเอง
คราวด์ เพลสเชอะ (Crowd Pleasure)
อีกหนึ่งคำที่มักได้ยินบ่อย ๆ จากซอมเมอลิเยร์ที่ขายไวน์ให้เราตามซูเปอร์ใหญ่ ๆ เพราะหากเราต้องการเลือกซื้อไวน์ที่ถูกใจทุกคนไว้สำหรับงานปาร์ตี้หรืองานเลี้ยงฉลอง เราสามารถบอกซอมเมอลิเยร์ได้เลยว่าเราอยากได้ไวน์ที่เป็น Crowd Pleasure คือตัวเบสิกที่มั่นใจได้ว่าซื้อไปแล้วทุกคนชอบ ไม่มีใครทำหน้าเหยเกหรือเข้าไม่ถึงแน่นอน
โคลสด์ (Closed)
คำนี้ใช้เพื่ออธิบายถึงไวน์วัยละอ่อนที่รสชาติยังไม่เข้าที่ดี โดยยังไม่มีลักษณะเฉพาะตัวที่ชัด ทั้งรสชาติและกลิ่นยังไม่เผยออกมา หรือถูกแอลกอฮอล์ *แทนนิน หรืออะซิดิตี้กลบมิด ทั้งนี้ไวน์ใหม่นั้นอาจต้องการการ ‘เปิด’ หรือ open up ให้อากาศเข้าไปช่วยดึงรสและกลิ่นออกมา ขึ้นอยู่กับวิธีเก็บไวน์ของแต่ละที่ ซึ่งคุณจะพูดคำนี้ได้เมื่อตอนที่จิบและดมไวน์ (ตอนไม่เป็นหวัด) แล้วรู้สึกว่าบุคลิก รสชาติ หรือกลิ่นยังไม่ชัดเจน หรือขาดอะไรไป เป็นต้น
คอมเพล็กซ์ (Complex)
เมื่อรู้สึกว่าไวน์ที่จิบรสชาติช่างห่างไกลความเบสิก หรือรสเพลนๆ เข้าใจง่าย คุณจะเอ่ยบอกได้ว่าไวน์ตัวนี้ ‘คอมเพล็กซ์’ หรือมีรสชาติที่ซับซ้อนนั่นเอง ซึ่งความซับซ้อนนี้เป็นสิ่งที่ชวนให้จิบอีกครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อลิ้มลองรสใหม่ๆ ที่ยังแสดงตัวออกมาอยู่เรื่อยๆ ทุกครั้งที่จิบ เสริมรสชาติการจิบไวน์ให้สนุกและสุนทรีย์ขึ้นไปอีก ดังนั้นคุณพูดได้ว่า “ไวน์นี้คอมเพล็กซ์มากๆ ยิ่งจิบยิ่งได้รส!”
ดีป (Deep)
คำนี้ใช้เวลาต้องการบ่งบอกว่าไวน์นั้นมีรสชาติที่ลึกซึ้ง มีรสของน้ำองุ่นที่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ออกรสอย่างมีมิติ โดยใช้กับการบอกรสชาติเท่านั้น หากอยากใช้คำที่หลากหลาย (เพื่อความสวยหรูดูดี) ลองเปลี่ยนมาใช้คำว่า ‘คอนเซ็นเทรตเต็ด’ (Concentrated) แทนก็ได้ ไม่ว่ากัน
ดราย (Dry)
หนึ่งในคำยอดฮิตติดปากนักจิบไวน์ที่ต้องหลุดจากปากกันบ้างล่ะ! แต่ถ้าอยากใช้คำนี้กับเขาบ้าง จงทำความเข้าใจกันเสียก่อน จะได้ไม่เสียฟอร์ม คำนี้เป็นคำเรียกไวน์ที่มีน้ำตาลไม่เกิน 0.2 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งรสชาติของไวน์ที่มีความดรายนั้นจะออกรสฝาดลิ้น ตรงกันข้ามกับไวน์ที่มีรสหวาน
เอิร์ธตี้ (Earthy)
ถือเป็นคำสรรพคุณของไวน์ที่แปลก เพราะถ้านึกถึงความเอิร์ธตี้ ไม่แปลกที่จะนึกถึงการกินดิน กินหญ้าเขียวเข้าไปเต็มๆ… แท้จริงแล้วก็ไม่ผิดความหมายนัก ทั้งนี้คำนี้ไม่ได้บ่งบอกว่าไวน์นั้นดีหรือไม่ดี เพียงแต่บอกลักษณะว่ามีกลิ่นหรือรสที่ชวนให้นึกถึงดินแฉะๆ ยามฝนตก ซึ่งอาจหอมสดชื่นก็เป็นได้ ถ้านึกไม่ออก ให้หลับตานึกถึงรสชาติและกลิ่นของบีตรูตแบบมีดินติดน่าจะพอช่วยได้
ฟินนิช (Finish)
เราเปรียบเทียบ Finish ได้คล้าย ๆ คำว่า Aftertaste ในวงการกาแฟ การจับรส Finish จะต้องรอเมื่อตอนกลืนไวน์ลงคอไปเรียบร้อยแล้ว และโฟกัสในรสชาติ กลิ่น และบอดี้ที่เหลืออยู่ในปาก หากไวน์ตัวไหนยังคงเต็มตื้นอยู่ในปากของเรา นั่นหมายถึงไวน์ตัวนั้นมี Finish ที่ยาวนานนั่นเอง
ฟรูท ฟอร์เวิร์ด (Fruit Forward)
ถ้าในวงการค็อกเทลมีคำว่า Spirit Forward ที่หมายถึงค็อกเทลที่มีรสชาติเหล้าเข้ม ๆ เป็นตัวนำ ในวงการไวน์ก็มีคำว่า Fruit Forward เอาไว้เรียกไวน์ที่มีรสชาติผลไม้ในโทนฟรุตตี้เป็นตัวนำเช่นกัน ซึ่งจริง ๆ แล้วคุณคิม ไวน์กูรูของเรา บอกว่าเป็นรสชาติเริ่มแรกที่นักดื่มไวน์มือใหม่มักชื่นชอบ เพราะเป็นรสชาติสไตล์ผลไม้กินง่ายที่ไม่ว่าใครก็ต้องหลงรักเป็นธรรมดา
ไทป์ปิซิตี้ (Typicity)
เดินทางมาถึงคำศัพท์เก๋ ๆ ที่ถ้าใครพูดคำนี้ออกมาคือเท่มาก นั่นคือ Typicity ที่เอาไว้ใช้นิยามไวน์ตัวไหนก็ตามที่มีคาแรกเตอร์จัดจ้าน มีความเฉพาะตัวสูง จนผู้ดื่มสามารถจำแนกรสชาติของไวน์ได้อย่างแม่นยำ
แทนนิน (Tannin)
เชื่อว่านี่คือหนึ่งในคำที่หลาย ๆ คนสงสัยใคร่รู้ เพราะเวลาเราไปซื้อไวน์ตามห้าง ซอมเมอลิเยร์มักจะติดปากพูดคำนี้ออกมาอยู่บ่อย ๆ ใครที่ไม่อยากหน้าแตกคราวหน้าว่ามันหมายถึงอะไร เรามีเทคนิคง่าย ๆ ให้เปรียบรสชาติ Tannin ในไวน์เหมือนความขมฝาดลิ้นแบบที่เราเจอได้ในกาแฟดำนั่นเอง เจ้าความ Tannin ในไวน์นี้เกิดจากเปลือกองุ่นที่ไว้ใช้ทำไวน์แดงโดยเฉพาะ ซึ่งมักจะหายไปเมื่อไวน์ตัวนั้นถูกบ่มไปนานหลายปี